icon
giftClose
profile

ทำยังไงให้เด็กๆ รู้สึกว่าการเรียนรู้สำคัญกว่าคะแนน

43973
ภาพประกอบไอเดีย ทำยังไงให้เด็กๆ รู้สึกว่าการเรียนรู้สำคัญกว่าคะแนน

insKru ได้รวบรวมวิธีจากคุณครู Crystal Frommert และ อาจารย์ Jonathan Eckert ที่เขียนบทความไว้บน edutopia.com มาให้อ่านกันค่ะ :-)

“ครูคะ หนูได้คะแนนเท่าไหร่คะ?” 
“ครูฮะ ผมต้องได้อีกกี่คะแนนถึงจะผ่านฮะ?”
“ครูครับผมจะได้เกรดเท่าไหร่ครับ?”

.

🌷อาจเป็นคำที่ครูได้ยินจากเด็กๆ อยู่บ่อยครั้ง พอหมดช่วงสอบ เทศกาลการประเมินคะแนนก็มาถึง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการศึกษาแบบเดิม โดยเฉพาะการสอบ การเก็บคะแนน การตัดเกรด ฯลฯ

อาจทำให้เด็กๆ จำเป็นต้องให้ความสนใจกับ “คะแนน” มากกว่า “การเรียนรู้”

และอาจมีผลต่อ “วัฒนธรรมการคลั่งเกรด/คะแนน (grade-obsessed culture)” ได้เช่นกัน

หลายๆ ครั้งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กๆ ที่อาจถูกกดดันจากรอบตัวและตัวเขาเองด้วย

เราเชื่อว่าคุณครูหลายๆ คนเองก็มองและอยากสื่อสารกับเด็กๆ เช่นกันว่า “คะแนนไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด” 

หากแต่เป็น “เส้นทางและประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละคน” 

ที่เราอยากให้เด็กๆ ได้สัมผัสและสนุกไปกับการพัฒนามากกว่า

.

🤔แล้วคุณครูจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อทำให้เด็กๆ “สนใจการเรียนรู้มากกว่าคะแนน”
และ “ลดความสำคัญของเกรด” ลง เป็นเพียงแค่เครื่องมือการประเมิน ไม่ใช่การตัดสิน กันนะ?
(หรือจะทำยิ่งกว่านั้นก็ได้ คือมาเปลี่ยนระบบการประเมินด้วยการตัดเกรดและให้คะแนนกัน!)

.

วิธีการอาจแบ่งคร่าวๆ เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ การเปลี่ยนรูปแบบการวัดผล

(ในบทความนี้ขอพูดถึงกรณีที่ยังต้องใช้การสอบอยู่และเสนอทางเลือกในการวัดผลเพิ่มเติมนะคะ)

และส่วนที่สองคือ วิธีการสื่อสารของคุณครู ค่ะ


🌷ส่วนที่ 1: การวัดและประเมินผลที่ลดบทบาทของคะแนนลง


(ยัง) ไม่ให้คะแนน (ทันที)

เวลาทำแบบฝึกหัดหรือสอบเสร็จ คุณครูอาจยังไม่ต้องเขียนคะแนนลงบนงานแล้วคืนเด็กๆ ทันที

ลองเลื่อนการบอกคะแนนออกไปก่อน แต่ลองเขียนแค่ comment หรือ feedback สั้นๆ กลับไปแทน

เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้ใส่ใจกับ feedback ที่เขาได้ อย่างน้อยก่อนจะดูคะแนน 

เขาต้องได้เข้าใจก่อนว่าเขาปรับปรุงจุดไหนได้ จุดไหนยังไม่เข้าใจ 

(แทนที่พับกระดาษเก็บใส่กระเป๋า แล้วลืมมันไปตลอดกาล)

.

การบอกคะแนนด้วยความเคารพสิทธิเด็กๆ ก็สำคัญ

ลองอ่านวิธีการบอกคะแนนที่เคารพสิทธิและดีต่อใจเด็กของครูนุ๊กได้ที่:

https://inskru.com/idea/-Mg8pLahbZ11aLITVx_o

.

ให้ Feedback/Comment แบบไหนที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และให้กำลังใจเด็กๆ 

คุณ James Nottingham นักการศึกษาชาวอังกฤษได้เสนอวิธีการให้ feedback มาว่า


🔹ครูและนักเรียนเข้าใจเป้าหมายการประเมินตรงกัน

คุณครูอาจต้องคุยกับเด็กๆ ให้ชัดเจนเลยว่า เกณฑ์ของการประเมินคืออะไรบ้าง 

ให้ตัวอย่างที่ชัดเจนของแต่ละจุดประสงค์การเรียนรู้ไปเลย ว่าเขาต้องทำอะไรได้บ้าง

จึงจะผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ในเทอมนั้นๆ โดยเอาเกณฑ์การประเมินของครูมาคุยกันทั้งห้อง

หรือถ้าครูคนไหนใช้ระบบให้เด็กประเมินตัวเอง อาจใส่เข้าไปใน Rubric (เกณฑ์การประเมินผล) 

เพื่อที่เวลาเด็กๆ ประเมินตัวเอง หรือให้เพื่อนประเมิน ทุกคนจะได้ยึดหลักเกณฑ์เดียวกัน

นอกจากนี้ ในกรณีที่ครูให้เด็กให้คะแนนตัวเอง จะทำให้เด็กๆ รู้สึกมีอิสระ

และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองอีกด้วยนะ


ดูเพิ่มเติม: การประเมินผลแบบให้เด็กให้คะแนนตัวเองโดยใช้ Rubric

https://inskru.com/idea/-MkBhTckzdY_hKkt6T5H

.

🔹พัฒนางาน (ไม่ใช่เพียงส่งแล้วส่งเลย)

หลังจากที่ครู (และ/หรือ เพื่อน) ให้ feedback ไปแล้ว คราวนี้ลองให้แต่ละคนกลับไปพัฒนางานที่ตัวเองทำมาอีกครั้ง 

หลังจากที่ทุกคนทั้งห้องเข้าใจเกณฑ์การประเมินตรงกันแล้ว คุณครูอาจใช้วิธี ให้เพื่อน feedback รอบแรก

แล้วให้ครู feedback รอบที่เด็กพัฒนางานมา (หรืออาจจะมีคุณครูช่วยแนะนำทั้งสองกระบวนการเลยก็ยิ่งดี!)

.

🔹การประเมิน/ให้คะแนนที่เสริมแรงบวก

ลองมาเช็คร่วมกันทั้งห้องว่า หลังจากที่ได้ feedback งานครั้งแรกไปแล้ว พอพัฒนางานนั้นมาส่งใหม่

แต่ละคนพัฒนาให้ตรงกับเป้าหมายและเกณฑ์การประเมินมากน้อยแค่ไหน

ถ้ามีนักเรียนที่ยังทำตามเป้าหมายไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรนะ คุณครูอาจย้ำว่า

“นี่ไง เห็นไหมว่าการที่เราไปพัฒนางานมาอีกครั้ง ก็ถือเป็นหลักฐานแล้วว่าเราได้เรียนรู้และพัฒนาขึ้น

ตอนนี้แค่ยังทำไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้เลยนี่นา”

การสื่อสารแบบนี้จะทำให้เด็กๆ ที่แม้จะยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์ รู้สึกว่าเขาได้เรียนรู้

ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ากับการเติบโตของเขามากกว่าคะแนนหลายเท่า

และยังเป็นกำลังใจให้เขาอยากเรียนรู้ต่อไปด้วย

.

🔹สะท้อนความคิด

จบการให้คะแนนไปแล้ว มาชวนเด็กๆ คุยเรื่องที่สำคัญกว่ากัน ว่าพอจบเทอมนี้

“ตอนต้นเทอมและปลายเทอม เราได้คิดต่างออกไปอย่างไรบ้าง/ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”

“ด้วยความรู้ที่มีตอนนี้แล้ว อยากทำอะไรต่อ/ศึกษา/อยากรู้ เรื่องไหนต่อ”

เพื่อฝึกให้เด็กๆ ได้เป็นคนประเมินตัวเอง ฝึกมองภาพกว้าง

รู้จักตัวเองและวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ของตัวเองเป็น

ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เขาจะใช้ได้ แม้เรียนจบจากรั้วโรงเรียนออกไปแล้ว

ไม่มีคุณครูประเมิน แต่เขาก็ยังจะสามารถประเมินการเรียนรู้ของตัวเองได้ต่อไป


การให้ feedback การเรียนรู้ที่ดี จะทำให้เด็กๆ อยากอ่าน รู้สึกเชื่อมต่อกับครูมากขึ้นด้วยนะ

.

🔹การบ้านและแบบฝึกหัดที่ไม่ต้องให้คะแนน

เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการบ้านและแบบฝึกหัดอาจไม่ใช่เพื่อ “ความถูกต้อง” 

แต่เป็นการให้เด็กได้ทดลองทำ ฝึกฝนเรื่อยๆ ครูอาจให้คะแนนการ “ส่งงาน” แทนคะแนนถูก-ผิด

เพื่อการันตีว่าทุกคนจะได้ฝึกฝนตัวเอง แล้วเราเปลี่ยนจากการตรวจคะแนน

มาเป็นการ “ให้คะแนนการส่งงานเท่ากัน” แบบอัติโนมัติไว้แทน


🙋🏻ครู Crystal เสนอว่า เธอให้คะแนนไว้เลยสำหรับทุกคนที่ทำการบ้านมาส่ง

เพราะวิธีนี้ลดความกังวลของเด็กที่จะต้องทำการบ้านให้ “ถูก” 

และเปลี่ยนมาทำการบ้านให้ “รู้” แทน

.

(สอบ)ได้อีกครั้ง

ถ้ายังต้องใช้วิธีสอบอยู่ ครู Crystal เล่าว่าที่โรงเรียนของเธอออกนโยบายให้เด็กๆ สอบใหม่ได้

เพราะบางทีการสอบถูกกดดันด้วยเวลา การเรียนรู้เด็กๆ เร็วช้าต่างกัน

สภาพร่างกาย จิตใจ ในช่วงสอบก็อาจจะต่างกันเกินกว่าที่เราจะควบคุมด้วยนาฬิกาได้

ฉะนั้นโรงเรียนจึงปรับให้สอบใหม่ ไม่ใช่เพื่อปรับคะแนน 

แต่เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ต่างหาก

ดูเพิ่ม: การวัดผลไม่ได้มีแค่สอบ ครูปรับและเปลี่ยนได้

https://inskru.com/idea/-Mg6KDRGBlFjnaohHMdr

.

🌷ส่วนที่ 2: การสื่อสารกับเด็ก (และผู้ปกครอง)

เปลี่ยนแนวคิดหรือวิธีพูดเกี่ยวกับเกรดกับทั้งเด็ก

เวลาเด็กบอกว่าไม่อยากทำ/เรียน เราอาจต้องเลี่ยงการบอกว่า “ถ้าเราทำการบ้านหรือตั้งใจเรียน เราจะได้คะแนน” เพราะนั่นเป็นการตั้งเป้าหมายของการเรียนและการทำงานให้เป็นคะแนนไปโดยปริยาย

เรามาเน้นให้กำลังใจเชิงบวกดีกว่าว่า “การที่เราเรียนหรือทำแบบฝึกหัดเรื่องนี้ จะช่วยให้เรา…” ,

“การที่เราทำแบบฝึกหัดจะช่วยให้เราเข้าใจ...ในบทเรียนมากขึ้น”

หรือ “เราจะได้เพิ่มทักษะ...จากการที่เรา...นะ”

และที่สำคัญเขาทำได้แม้ไม่มีคะแนนมาเกี่ยว :--)


กับผู้ปกครองก็เช่นกัน

หากผู้ปกครองถามเกรดหรือคะแนนจริงๆ คุณครูอาจจะบอกได้ 

แต่เรามาเสริมเรื่องทักษะ หรือจุดที่อยากให้ฝึกเพิ่มกันไปด้วยดีกว่า เช่น

“น้องอินสอบได้ 30/50 เพราะว่ายังไม่แม่นเรื่องการอ่านจับใจความนะคะ แต่ว่าการเรียบเรียงของน้องดีแล้วค่ะ”

การเสริมจุดนี้ต่อจากคะแนน จะทำให้ผู้ปกครองและเด็กได้รู้ว่า คะแนนส่วนที่หายไป

ไม่ได้หมายถึงการด้อยค่าหรือตัดสินความสามารถเด็กๆ (และไม่เผลอส่งต่อความคิดนั้นให้เด็กๆ ด้วย!)

แต่เป็น “ช่องว่างที่ยังพัฒนาได้อีก” ของเด็กๆ แต่ละคน

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคะแนน (และสำคัญกว่า) คือการเรียนรู้และทักษะที่เด็กๆ ได้พัฒนา

.

🌷ครู Crystal เล่าด้วยว่า หลายๆ คนมักชอบพูดว่า “ถ้าเราไม่ใช้วิธีการให้คะแนน 

แล้วเราจะเตรียมพร้อมเด็กๆ เข้าสู่ชั้นเรียนต่อไปได้ยังไง?” 

แต่ครู Crystal มองว่า การศึกษาปัจจุบันมุ่งหน้าไปทาง “การไม่ให้คะแนนตัดสิน (ungrading)” แล้ว

และในอนาคตข้างหน้า การประเมินแบบให้คะแนนอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป

.

🌷ระบบการให้คะแนนเปลี่ยนได้ ขอเพียงแค่เราทุกคนเริ่มมองให้ตรงกัน

ว่าการวัดผลควรเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ของแต่ละคน

เมื่อเรามองแบบนี้วิธีที่ครูใช้วัดผลก็จะเปลี่ยน การออกแบบการสอน การสื่อสารกับเด็กๆ ก็จะเปลี่ยน

ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงจากคุณครูที่อยู่กับการเรียนรู้ของเด็กๆ นี่แหละ

ที่อาจส่งเสียงขึ้นไปถึงนโยบายโรงเรียนและอาจเปลี่ยนทิศทางการศึกษาได้

แม้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากคุณครูหลายๆ คน

จะรวมเป็นเสียงที่ส่งผลต่อระบบการศึกษาในภาพใหญ่

และที่สำคัญ กับชีวิตการศึกษาของเด็ก ๆ ด้วย :--)

.

.

บทความอ้างอิง:

https://www.edutopia.org/article/5-ways-help-students-focus-learning-rather-grades

https://www.edutopia.org/article/8-steps-making-feedback-more-effective


1 Crystal Frommert ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนประถม

https://www.edutopia.org/profile/crystal-frommert


2 Jonathan Eckert ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Baylor University

https://www.edutopia.org/profile/jonathan-eckert

.

.

#ทำยังไงให้เด็กสนใจการเรียนรู้มากกว่าคะแนน

#การวัดและประเมินผล

#insKru

#พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)