icon
giftClose
profile

ผีอะไร ที่คุณครูอาจโดนหลอกแบบไม่รู้ตัว

9410
ภาพประกอบไอเดีย ผีอะไร ที่คุณครูอาจโดนหลอกแบบไม่รู้ตัว

👻 เตรียมพร้อมรับความสยองขวัญในวันฮาโลวีน รวบรวม “เรื่องผี ๆ” ที่ตามหลอกหลอนครูไทย

ลองเผชิญหน้ากับความเฮี้ยน เปลี่ยนมุมมองเพื่อท้าทายมาดูกันว่าคุณครูจะมีวิธีต่อสู้กับเหล่าผีพวกนี้อย่างไรกันดีเริ่มปฏิบัติการ ล่า-ท้า-ผี ใครพร้อมแล้ว เกาะกลุ่มตามมา!


🎃 ปฏิบัติการล่า ท้า ผี-แอล-ซี

“แนวปฏิบัติที่ดี แต่ถูกลดทอนให้เหลือเพียงผีภาพถ่าย”

🔎 ออกตาม “ล่า” ผี-แอล-ซี

ออกสำรวจ ตอนนี้ผีแอลซีตามหลอกหลอนครูไทยยังไงบ้าง

ผีแอลซี หรือ พีแอลซี (PLC: Professional Learning Community) กลุ่มผีที่คุณครูน่าจะใกล้ชิดและสนิทสนมมากที่สุดตัวหนึ่ง ดูภายนอกดูเหมือนไม่ดุร้าย แต่โผล่มาทีไรก็วิ่งหนีไม่พ้นตลอด ชอบออกมาหลอกหลอนด้วยรูปแบบของการประชุม การถ่ายภาพ การจัดทำเอกสาร บันทึกการประชุม พบเจอทีไร เป็นอันต้องใจเต้นแรงทุกที (เพราะต้องเหนื่อยกับการทำเอกสารหลักฐานอีกแล้ว ! )

แนวปฏิบัติเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกผลิตซ้ำต่อ ๆ กันมา ตั้งแต่การรอเอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทำเอกสารบันทึกการประชุม ทุ่มเทเพื่อขึ้นไปนำเสนอระดับเขต สุดท้ายแล้วเจตนาที่แท้จริงในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนกลับไม่เคยถูกพูดถึง แนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ที่ออกมากลับกลายเป็นปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไขจริง


🔥 “ท้า” ทายความเชื่อเกี่ยวกับ ผี-แอล-ซี

“เป็นไปได้ไหม ที่การ PLC ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน”

หากย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้น PLC หรือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพนั้นคือวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติที่คุณครูมีพื้นที่ในการหยิบยกปัญหาที่พบเจอขึ้นมาชวนพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนครูด้วยกันเอง โดยไม่จำกัดแค่ปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงปัญหาด้านความสัมพันธ์ของนักเรียน ปัญหาการถดถอยทางการเรียนรู้ หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน

นอกจากนี้บทสนทนาอาจจะไม่ได้ตั้งต้นจากปัญหาที่พบเจอ แต่เป็นการชวนพูดคุยเพื่อจินตนาการภาพใหม่ ๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน เช่น วง PLC ระหว่างครูและผู้บริหารเพื่อจินตนาการถึงนโยบายใหม่ ๆ ที่คุณครูอยากได้ โรงเรียนกำลังมีเป้าหมายการศึกษาแบบไหน ครูคนใดอยากรวมกลุ่มเพื่อริเริ่มโปรเจคที่อยากขับเคลื่อนบ้างไหม

แต่แนวปฏิบัติเหล่านี้กลับไม่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาระงานที่คุณครูต้องแบกรับมากจนเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะก่อให้เกิดบทสนทนาเหล่านี้ หรือวัฒนธรรมอำนาจในโรงเรียนที่กดทับให้คุณครูไม่สามารถส่งเสียงหรือพูดปัญหาที่แท้จริงออกมาได้ ผีแอลซีตัวนี้จึงตามหลอกหลอนครูไทยมาอย่างยาวนาน จากจุดประสงค์ที่ดีกลับถูกปัจจัยต่าง ๆ ลดทอนให้เหลือเพียงการรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งรายงานเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป

“แล้วเราจะปราบเจ้าผี-แอล-ซียังไงกันดี?”


👻 ยันต์ปราบ ผี-แอล-ซี

เมื่อเราได้เห็นว่าผีแอลซีในปัจจุบันมีหน้าตาอย่างไร และพีแอลซีที่ควรจะเป็นนั้นมีรูปร่างแบบไหน เลยอยากชวนคุณครูมาร่วมปฏิบัติการ “ล่า-ท้า-ผี” มาดูกันว่าทีมคุณครูจะต้องพกวิธีคิดแบบไหนไปต่อสู้ เครื่องมือแบบไหนที่จะปราบเจ้าผีแอลซีได้ ทำยังไงให้ PLC เปลี่ยนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ถ้าพร้อมแล้ว ออกล่ากันได้เลย!

.

📌 5 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PLC ทบทวนความคิดในเรื่อง PLC ก่อนออกตามล่าผี

https://inskru.com/idea/-NBpFe9AaltZOfCy9vB3

📌 บอร์ดเกมที่ใช้ในการทำ PLC เริ่มต้นบทสนทนาในวง PLC ไม่ได้ ลองใช้บอร์ดเกมสิ!

https://inskru.com/idea/-LgLfQDqJgaJGNmaKhAd

📌 รวม 7 เครื่องมือชวนคุณครู Reflection หลังการทำงานสำหรับครูมองปัญหาไม่ออก บอกไม่ได้ว่าอยากพัฒนาต่อยังไง

https://inskru.com/idea/-MP7h3XlRIVx4wuQm_45

📌 วิธีเล่น Kruator Card! ตัวช่วยออกแบบไอเดียการสอนวง PLC เพื่อการพัฒนาการสอน Kruator Card ช่วยได้

https://inskru.com/idea/-MafiKkRuH0e1Y6fDsXb


🎃 ปฏิบัติการล่า ท้า ผีเวร!(ยาม)

“ยามก็มา กล้องวงจรปิดก็มี นี่ฉันต้องไปโรงเรียนเพื่ออะไร?”

🔎 ออกตาม “ล่า” ผีเวร!(เอ้ย)

ออกสำรวจ ตอนนี้ผีเวรตามหลอกหลอนครูไทยยังไงบ้าง

ผีเวร!(ยาม) ตำนานผีที่คอยหลอกหลอนคุณครูผู้ชายมาหลายสิบปี ความเฮี้ยนของผีตัวนี้จะเพิ่มขึ้นทันทีถ้าได้พบเจอช่วงวันหยุดตามเทศกาล ส่งผลให้คุณครูต้องอดไปเที่ยวพักผ่อนเหมือนกับใครเขา รูปพรรณสัณฐานคลับคล้ายคลับคลากับผีผ้าห่มและหมอนข้าง แม้ว่าบางโรงเรียนจะมีคุณยามและกล้องวงจรปิดที่คอยรักษาความปลอดภัย ก็ไม่สามารถเอาชนะเจ้าผีตัวนี้ได้ แถมโรงเรียนไหนที่มีจำนวนครูผู้ชายจำนวนน้อยก็ต้องคอยผลัดกันเข้ามานอนในโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง

ผีเวรนี่เฮี้ยนชะมัด!

นอกจากนี้ ผีเวร(ยาม) ยังคอยติดตามหลอกหลอนครูผู้หญิงในวันเสาร์อาทิตย์ อ้างว่าเป็นกิจที่จะต้องคอยให้บริการผู้คนที่มาติดต่อราชการในวันหยุด เลยต้องเตรียมชุดทำงานออกมาใช้ชีวิตในโรงเรียนในเวลาที่คนอื่นได้พักผ่อน แต่จะใครกันนะจะมาติดต่อราชการนอกเวลาราชการ (บ้าบอจริงเชียว)

ในเมื่อทุกอย่างดูจะผิดเพี้ยนไปหมด เหตุใดผีตัวนี้ถึงไม่หยุดหลอกหลอนพวกเราสักทีนะ?

 

🔥 “ท้า” ทายความเชื่อเกี่ยวกับ ผีเวร!(ยาม)

“ยามก็มา กล้องวงจรปิดก็มี นี่ฉันต้องไปโรงเรียนเพื่ออะไร?”

เป็นข้าราชการก็ต้องทำตามระเบียบ คำสั่งที่เขากำหนด
เผื่อมีคนมาติดต่อราชการ ถ้าไม่มีคนอยู่จะให้เขาทำยังไง
ถ้าเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดในโรงเรียน จะได้มีคนคอยอยู่ดูแล

 

สารพัดเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปกป้องเจ้าผีเวร!(ยาม) ตัวนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและดุร้ายของเจ้าผี แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลของการเข้าเวรยามดี ๆ ก็จะพบว่ามีจุดที่น่าคิดและตั้งคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ที่ซ้อนทับกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของโรงเรียน ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตยามค่ำคืนของคุณครู การรองรับผู้คนที่จะเข้ามาติดต่อราชการในช่วงนอกเวลาราชการ ขอบเขตความรับผิดชอบของคุณครูเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจริง ๆ หรือการทำต่อ ๆ กันมาโดยไม่ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง

แม้ว่าทุกคนจะรับรู้ว่าวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติในการเข้าเวรของคุณครูนั้นจะค่อนข้างประหลาดและไร้เหตุผลสักเท่าไร หากใช้มุมมองทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (Critical theory) ก็อาจจะพบว่านโยบายใดที่ดำรงอยู่นั้นจะต้องเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งคอยหล่อเลี้ยงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมให้ดำรงอยู่ เช่น การใช้อำนาจทางระเบียบข้อบังคับเพื่อทำให้คุณครูรู้สึกไร้อำนาจ ไม่แข็งขืน และไม่มีสิทธิต่อรอง แม้ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิภาพในการใช้ชีวิตของตนเองก็ตามแต่

“ระบบที่ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ทำไมมันถึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสักทีนะ?”


👻 ยันต์ปราบ ผีเวร!(ยาม)

หากทุกคนได้สัมผัสกับความเฮี้ยนของเจ้าผีเวร!(ยาม)ตัวนี้แล้ว ลองมาดูกันว่าเราจะสามารถต่อกรกับเจ้าผีตัวนี้อย่างไรได้บ้าง เมื่อมองอย่าถี่ถ้วนเราก็จะเห็นว่าผีตัวนี้มีความเชื่อมโยงกับคำสั่งหรือนโยบายเป็นอย่างมาก การใช้ยันต์ปราบผีเพื่อต่อสู้เชิงปักเจกอาจจะไม่ส่งผลเท่าที่คาดหวังไว้

ลองมาดูตัวอย่างการรวมตัวของคุณครูเพื่อต่อรองกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่คอยกดทับคุณครูผ่านวัฒนธรรมการเข้าเวรกันเถอะ

📌 กรณีศึกษา : ร่วมลงชื่อ ขอให้มีมาตรการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกลุ่ม ครูขอสอน https://www.facebook.com/102568174454229/photos/a.107316590646054/573302564047452/

📌 กรณีศึกษา : ตัวแทนครูขอสอนยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาการอยู่เวรรักษาการณ์ของครูต่อกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยกลุ่ม ครูขอสอน https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid037k6oKndBwJbL7iFEFXoYygrnpREFDwqs8sMapzoxiyY8eYjeUTA6xCinrCNayoVPl&id=102568174454229

📌 กรณีศึกษา : การให้ข้าราชการสตรี อยู่เวรรักษาการณ์ เวลากลางคืน ผิดหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ โดยครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

https://www.facebook.com/capttew/posts/pfbid0AKqMsgCdq2hquCpY8arvMBF6pnFtb6M7gqyfR45eEbuvrDw4rXqZFpSsYRWjQ8p4l

📌 กรณีศึกษา : แคมเปญรณรงค์ “เลิกให้ครูผู้ชายนอนเวรเฝ้าโรงเรียน!!!” โดยครูกุ๊กกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย

https://www.change.org/p/ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ-เลิกให้ครูผู้ชายนอนเวรเฝ้าโรงเรียน?fbclid=IwAR2eICyWcA3hVYQQGTdxZfh2C1mdjPs6qCuQlPxg0GjkQVlxrU6nKNILOzI


🎃 ปฏิบัติการล่า ท้า ผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ

“ประเมินครูด้วย QR code อาจไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องกลับมารื้อถอนวิธีคิดในการประเมินอีกครั้ง”

🔎 ออกตาม “ล่า” ผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ

ออกสำรวจ ตอนนี้ผีปอบตามหลอกหลอนครูไทยยังไงบ้าง

ถึงเวลาออกโรงของ “ผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ!” ผีที่กลับมาหลอกหลอนคุณครูในเทศกาล “ประเมินครู” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพูดถึงความน่ากลัวของผีตัวนี้แล้ว นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่อง “ความเยอะ” แล้ว ยังพ่วงมาด้วย “ความเล่นใหญ่” อีกด้วย

ความเยอะที่ว่า นั้นหมายถึงความเยอะสิ่งของหลักฐานในการประเมินครู ไม่ว่าจะเป็น แฟ้มเอกสารต่าง ๆ แผนการสอน โครงสร้างหลักสูตร รายชวิชา วิจัยในชั้นเรียน ผลงานของนักเรียน สื่อการสอนรายคาบ รายงานผลสัมฤทธิ์

หรือความเล่นใหญ่ที่หมายถึง การจัดตกแต่ง “พิธีกรรม” ในการประเมินแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องจัดเตรียมหลักฐานต่าง ๆ แล้ว การประเมินยังถูกครอบด้วยวัฒนธรรมสุดยิ่งใหญ่ จับจีบผ้า จัดแสงไฟ บ้างก็เล่นใหญ่ จัดซุ้ม รุมล้อมด้วยป้ายไวนิลสุดอลังการ มองเผิน ๆ อาจทำให้นึกว่ากำลังเดินอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ (ว่าไปนั่น)

ความเยอะและความเล่นใหญ่ในการประเมินแต่ละครั้งนั้นชวนทำให้กลับมาตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้ว “สุดท้ายแล้วหัวใจหลักของการประเมินคืออะไร” และ “การประเมินที่ควรจะเป็นนั้นมีหน้าตาแบบไหน”

ถ้าพร้อมแล้ว เราไปท้าทายความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าผีตัวนี้กัน!


🔥 “ท้า” ทายความเชื่อเกี่ยวกับ ผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ

ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น เราประเมินครูไปเพื่อจุดประสงค์ใด

📍 ท้าทายความเฮี้ยนแบบเบา ๆ

เราเลิกจับจีบผ้า จัดซุ้มหรรษา แล้วหันกลับมาสนใจที่การประเมินกันได้ไหม

ภาพการประเมินที่คุณครูจะต้องเตรียมงานสุดอลังการนั้นเป็นภาพที่คุ้นตา ไม่ว่าจะต้องนั่งจับจีบผ้า เตรียมช่อดอกไม้ ป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมหาศาลในการจัดเรียงหลักฐานการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มเอกสาร เกียรติบัตร ประวัติส่วนตัว แผนการสอนรายคาบ โครงสร้างหลักสูตร

เป็นไปได้ไหมที่การประเมินครูจะเน้นไปที่การโฟกัสกับการสอนของคุณครู เช่น งดพิธีกรรมที่ทำให้คุณครูต้องเสียพลังงานไปกับการตกแต่งสถานที่ ลดวัฒนธรรมทางการให้เหลือเพียงการพูดคุยระหว่างคุณครูและคณะกรรมการประเมิน

ท้าทายความเฮี้ยนของผีตัวนี้แบบเล็ก ๆ แล้วลองดูซิว่าผีตัวนี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

📍 ท้าทายความเฮี้ยนมากขึ้นอีกนิด

ลดปริมาณเอกสารและชิ้นงาน ให้เหลือเพียงหลักฐานการเรียนรู้ที่จำเป็นเท่านั้น

หากท้าทายความเฮี้ยนเบา ๆ ด้วยการเอาพิธีกรรมออกจากการประเมินไปได้แล้ว ลองเริ่มท้าทายกับรูปแบบการประเมินให้มากขึ้น ลองลดจำนวนปริมาณเอกสารที่ใช้ในการประเมินลง ใช้ชิ้นงานของนักเรียนเพียงไม่กี่ชิ้นเป็นตัวแทนหลักฐานการเรียนรู้

ทดลองเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เหลือเพียงเอกสารแบบดิจิทัล ผสมผสานระหว่าง QR Code และ Presentation ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ลองมาดูกันว่าการท้าทายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระดับ เจ้าผีตัวนี้จะตอบโต้กับเรายังไงบ้าง

📍 ท้าทายความเฮี้ยนแบบขั้นสุด

จริงหรือไม่ ที่การใช้ QR Code คือรูปแบบการประเมินที่ช่วยแก้ไขปัญหา

เพิ่มระดับการท้าทายขั้นสุด ด้วยการกลับมาทบทวนแนวคิดในการประเมิน กลับมาตั้งคำถามว่า “ตกลงแล้วเราประเมินครูไปเพื่ออะไรกันแน่” หากพูดถึงจุดประสงค์ในการประเมินนั้น คุณครูอาจคุ้นเคยจากการประเมินนักเรียน เช่น การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) หรือการประเมินเพื่อตัดสินผล (Summative Assessment) ที่จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ในวาระโอกาสที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้ประเมิน

แต่จริง ๆ แล้วจุดประสงค์ของการประเมินอาจมองไปได้ไกลมากกว่านั้น หากใช้มุมมองเชิงวิพากษ์ เราจะเห็นว่าการประเมินนั้นมีจุดประสงค์ไปเพื่อการหล่อเลี้ยงความไม่เท่าเทียมทางอำนาจระหว่างผู้ประเมิน (รัฐ) และผู้ถูกประเมิน (คุณครู) นอกจากนี้การประเมินยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมให้คุณครูทำตามในสิ่งที่รัฐต้องการ ผ่านเกณฑ์การประเมินหรือกฏ ระเบียบ ข้อบังคับที่รัฐกำหนด

หากคุณครูรู้ไม่เท่าทันการประเมินในลักษณะนี้ อาจะทำให้คุณครูกลายเป็น “ตัวแทนของรัฐ (Government agent)” ที่คอยการกำหนดทิศทางพลเมืองตามที่รัฐต้องการ

“หรือการเปลี่ยนรูปแบบการประเมิน ลดเอกสารน้อยลง เปลี่ยนการเข้าถึงให้อยู่ในรูปแบบ QR Code ก็อาจจะวนเวียนอยู่กับฐานคิดการประเมินเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

สุดท้ายแล้ว เราประเมินครูไปด้วยจุดประสงค์ใดกันแน่ และเราจะขับเคลื่อนการประเมินครูให้มุ่งสู่ทิศทางไหนกันนะ

 

👻 ยันต์ปราบผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ

เมื่อทำความเข้าใจความเฮี้ยนของผีตัวนี้แล้ว เราจะเห็นว่าความเฮี้ยนของมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ “ความเฮี้ยนจากรูปแบบการประเมิน” และ “ความเฮี้ยนจากวิธีคิดในการประเมิน” เพราะฉะนั้น มาดูกันว่าเราจะพิชิตความเฮี้ยนทั้งสองรูปแบบอย่างไรได้บ้าง


🔥 ยันต์ปราบผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ เวอร์ชั่น “เปลี่ยนแปลงรูปแบบการประเมิน”

📌 แบบประเมิน insKru ช่วยให้การสอนของครูง่ายขึ้นได้! เครื่องมือในเว็บไซต์ insKru ที่ช่วยให้การประเมินง่ายขึ้น

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid02gR1fvntKG8g37uQHMxXu2DZy8TSFzqxWHjZ6du5XrjRCdhbZpgqo4gkEnWxAAWGal

📌 แจกไฟล์ แผนการสอนหน้าเดียว

https://inskru.com/idea/-Lx5PDH1DlKeL0i4Zwsn

📌 insLive ตอน “ทำทุกอย่างให้เหลือหน้าเดียว”

https://www.facebook.com/InskruThailand/videos/724480972331914

📌 วิจัยหน้าเดียว! แผนการสอนหน้าเดียว! SAR หน้าเดียว!

https://www.facebook.com/InskruThailand/photos/a.1652762778172587/4966545103460988/

 

🔥 ยันต์ปราบผีปอบ หอบผ้ามาจับจีบ เวอร์ชั่น “รื้อถอนวิธีคิดในการประเมิน”

📌 What if จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าระบบประเมินครูหายไป!?

ทบทวนแนวคิดในการประเมิน ก่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง

https://inskru.com/idea/-NBpMO1CSAUmc6zlyjDs

📌 insLive ตอน "ประเมินครูไทย ไร้เอกสาร เป็นไปได้!"

https://www.facebook.com/InskruThailand/videos/536376001087008

📌 Visual note สรุป “ประเมินครูไทย ไร้เอกสาร เป็นไปได้!”

https://www.facebook.com/InskruThailand/photos/a.1652762778172587/4916795928435906/


🎃 ปฏิบัติการล่า ท้า ผีเอ

“ไหนว่าประเมินแบบใหม่ แต่ทำไมแฟ้มเหมือนเดิม”

🔎 ออกตาม “ล่า” ผีเอ

ผีเอ ผีน้องใหม่ไฟแรงสุดเฮี้ยนประจำปี มองภายนอกดูเหมือนผีที่ใจดี แต่ดันมีรูปแบบการหลอกหลอนด้วยการทำให้คุณครูสับสน ด้วยเล่ห์กลการประกาศแนวทางการประเมินแบบวิทยฐานะแบบใหม่ แต่ทุกโรงเรียนยังคงใช้รูปแบบการประเมินในรูปแบบเดิม เพิ่มเติมด้วยคำถามมากมาย อัดวิดีโอยังไง ตั้งประเด็นท้าทายแบบไหน

ทำไมเจ้าผีตัวนี้ถึงสร้างความสับสนอลหม่านให้คุณครูได้ขนาดนี้นะ ทำไมโรงเรียนของเราถึงมีแนวปฏิบัติสวนทางกับการประกาศอย่างเป็นทางการ ถ้าพร้อมกันแล้ว ลองไปท้าทายความเฮี้ยนของเจ้าผีเอกัน!


🔥 “ท้า” ทายความเชื่อเกี่ยวกับ ผีเอ

ผีเอ หรือ ว PA นั้น คือความพยายามในการกระจายอำนาจการประเมินคืนสู่มือครู ด้วยการยกเลิกตัวชี้วัดจำนวนมากและการประเมินผ่านแฟ้มที่ซับซ้อนจากส่วนกลาง และเปิดอิสระให้คุณครูได้กำหนดประเด็นท้าทายซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้คุณครูกำหนดทิศทางในการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระงานจากการประเมินผ่านเอกสาร ด้วยการใช้ชิ้นงานหรือหลักฐานที่เกิดขึ้นในห้องเรียนจริง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม แม้ว่าจะมีการประกาศจากส่วนกลางให้เปลี่ยนรูปแบบการประเมินเพื่อลดความซับซ้อน หลาย ๆ โรงเรียนยังคงประเมินผ่านเอกสารเช่นเดิม (ว21/2560) ยังคงมีแฟ้ม กระดาษ ชิ้นงาน และเกียรติบัตรเป็นจำนวนมาก ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวทางการประเมินแบบ วPA

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เราได้เห็นถึงความล้มเหลวในการกระจายอำนาจในระบบราชการ ที่ระบบนั้นคุ้นเคยกับการได้รับคำสั่งแบบบนลงล่าง (top-down) การให้อิสระกับโรงเรียนอย่างฉับพลัน จึงทำให้เกิดภาวะ “สุญญากาศ” ของอำนาจ คือภาวะที่หน่วยปฏิบัติการที่เคยได้รับคำสั่งมาโดยตลอด แปรเปลี่ยนเป็นบุคคลที่มีเสรีภาพในตัวเอง ก่อให้เกิดความสับสนว่าแต่ละคนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และสุดท้ายก็กลับไปกอดกับแนวทางเดิมที่เคยได้รับ

นอกจากนี้ยังเห็นปรากฏการณ์ที่คุณครูหลาย ๆ คนที่พยายามจะเดินตามแนวทางของการประเมินรูปแบบใหม่ (วPA) แต่ถูกวัฒนธรรมและอำนาจในโรงเรียนครอบไว้ ไม่ให้เป็นคนเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นการ “แตกแถว” จากคุณครูคนอื่น ๆ

ปรากฏการณ์ผีเอ หรือ วPA นั้นจึงเป็นมากกว่าความสับสนจากการเปลี่ยนแปลง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจและวัฒนธรรมแบบราชการที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวในการกระจายอำนาจ แล้วแบบนี้คุณครูจะปราบเจ้าผีเอนี้อย่างไรดี เพราะดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่กว้างใหญ่เหลือเกิน


👻 ยันต์ปราบผีเอ

การปราบผีเอนั้น จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับคุณครูในหลักการ และพยายามขจัดความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยข้อมูลที่ชัดเจน สิ่งนี้จะช่วยให้คุณครูสามารถยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจ วัฒนธรรม และความสับสนที่เกิดขึ้นได้ เรามาดูกันว่าคุณครูจะต้องรู้อะไรเกี่ยวกับ วPA บ้าง!

📌 เริ่มทำ PA ยังไงดี 1 ต.ค. นี้ ลองดูโพสต์นี้ได้เลยค่า

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid02BdJk4SFrXovMR7pTwE33F62Qt2CVCrkrNkW7ChzpS747h2h9DZAykvhbV7XboPqtl

📌 ว่าด้วยประเมินแบบ PA แล้ว แฟ้มจะหายไปได้ยังไง !?!

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid02w6e6sRpfoLfoJVSUfJoDEp9peFSJ3awN5nQJtMZgDpndh6QRUp81mB4WsrCRv2E5l

📌 แอบส่อง PA เหล่ามนุษย์ครูทำอะไรกันบ้าง?

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid0UbBVDVZdeGRTjBK1NS6pdrTcWfYUfjLWfwHSmp3tWoVW4hjim8P9HEmgyFxArynnl

📌 ทำ PA แล้ว เอ๊ะ! ตรงไหนมาแชร์กัน

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid0EFmKvamPxxDxyG1WkAuDJ3NsisNooPwdU9jQGsdVzgLvz89SwXHuaso3at3kXGfUl

📌 ทำ PA ยังไงให้เกิด passion และ impact

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid0Mr6mPjrh9swYgERdk5bMDuvH8nVobCUqsWp4XX3HzkrrMBvsYLEshLRNenHqq2fzl

📌 รวมไอเดียการสอน 8 ทักษะตามเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid02XtjbBkUAaB61q5rmwH1bSoAgitLtjtf7B9zy1nvtWXrTdZNUBhht6fgfh4zbU3aXl

📌 ส่องความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการประเมิน ว PA

https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/pfbid02BaU47AdiPr9BwWB317hxCP5nC29k6gob8s8EXU57ByYUbgTzqwJGHjRzeTuZzLfil

 



 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(3)