icon
giftClose
profile

🥰สุดยอดไอเดียแห่งปี 2022 ผู้เรียนได้เรียนไปสุขใจ

13120
ภาพประกอบไอเดีย 🥰สุดยอดไอเดียแห่งปี 2022 ผู้เรียนได้เรียนไปสุขใจ

การจัดการเรียนรู้ การจัดชั้นเรียนบนพื้นฐานความเชื่อว่า “สุขภาพจิตที่ดีเป็นฐานสำคัญของการเรียนรู้” จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอารมณ์เชิงบวก มีกำลังใจเรียนรู้ สัมผัสได้ถึงคุณค่าในตนเอง

สุดยอดไอเดียแห่งปี 2022 ชุดสุดท้าย เราเน้นไปที่ไอเดียซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนไปสุขใจ (Positive Education) ช่วยให้ครูและเด็กมีกำลังใจในการเรียนรู้ และมีอารมณ์เชิงบวกในการใช้ชีวิต เด็กสามารถพัฒนาความสามารถ และความสนใจของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี ระหว่างเด็ก ครู และครอบครัว ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ สัมผัสได้ถึงการมีคุณค่าและความหมายของตนเอง เด็กแต่ละคนรับรู้ความก้าวหน้าของตัวเอง รับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความรู้สึกของตนเองอย่างมีกำลังใจ (Positive Self-reflection)


ตามไปดูไอเดียที่ Life Education ร่วมคัดเลือกมากัน

จะมีไอเดียไหนบ้างน้า ลองเดาไว้ในใจแล้วกดไปดูกัน !!


✌🏽แตกต่างแค่ไหน ก็เรียนรู้ร่วมกันได้ โดยครูเอ็ม-สุรักษ์ ชมกระแสสินธุ์ ออกแบบกิจกรรมฐานกาย เข้าใจความหลากหลายได้ง่าย ๆ จากสิ่งใกล้ตัว

กิจกรรมนี้ไม่ซับซ้อน แต่อาศัยความละเอียดอ่อนในการรับรู้ ครูเอ็มให้นักเรียนเริ่มจากลองสัมผัสใบหน้า ร่างกายของเพื่อนท่ีอยู่ตรงข้าม สอนไอเดียความเหมือนและแตกต่างของร่างกายผ่านกิจกรรมฐานกาย จึงช่วยให้เด็กเข้าใจไอเดียได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวหนังสือ และอีกกิจกรรมคือ ไหน ขอดูหน่อย ให้นักเรียนหยิบของที่มีอยู่ตามโจทย์ที่กำหนด ทำให้นักเรียนได้เห็นว่าทุกคนแตกต่างกัน จึงต้องการไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติ


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

”จุดเด่นที่น่าสนใจมากๆ ของกิจกรรมนี้คือ ครูสามารถสร้าง Empathy Flow ที่ทุกคนเอื้อมถึง ทำได้จริง และมีช่วงเวลาที่ชวนให้เด็กได้สะท้อนประสบการณ์มาเป็นต้นทุนในการพูดคุยแลกเปลี่ยน วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กเกิดความตระหนัก (aware) ในระยะยาว และมีการคำนึงถึงความเร็ว ช้า ที่แตกต่างกันของแต่ละคน มีการตั้งข้อสังเกตในวิธีการที่ใช้เพื่อต่อยอดต่อไป ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของนักพัฒนานวัตกรรม”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-N8qKZrKfp9MFgGpeKT4


⭕ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างได้ด้วย Morning Circle โดย ครูส้มโอ-พิชชาภา พงษ์พวงเพชร

เปลี่ยนช่วงเวลาโฮมรูมยามเช้าให้มีความหมาย ด้วยการล้อมวงคุยกัน รับฟังอย่างลึกซึ้ง

โฮมรูมยามเช้ามีเวลาไม่มาก แต่ครูส้มโอออกแบบให้กิจกรรมนี้มีความหมายมากกว่าที่เคยได้ เริ่มจากการจับมือนักเรียนทั้งห้อง ล้อมวงแล้วนั่งคุยกันถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ดีต่อใจ ให้นักเรียนและครูได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองออกมา เป็นการเพิ่มความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ทำให้เด็กได้รับรู้ว่า คุณครูเองก็มีความรู้สึกเชิงลบได้ แล้วเสนอตัวอย่างให้เห็นว่ามีทางเลือกในจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นยังไงได้บ้าง


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

“ขอชื่นชมครูตั้งแต่ขั้นของการ define ปัญหาว่ามีความละเอียดอ่อนมาก และเป็นแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานจิตวิทยาเชิงบวก คือ ครูมองเห็นพฤติกรรมของนักเรียนที่แสดงออกมาแบบมีราก มีที่มา ไม่กล่าวโทษว่าเด็กมีปัญหา แต่วิเคราะห์ได้ว่า "เหตุ" อะไรที่ทำให้เด็กไม่ให้ความร่วมมือในบางกิจกรรมของโรงเรียน แล้วนำ "เหตุ" นั้นมาหาทางออกบนพื้นฐานที่คำนึงว่าเด็กทำได้ แต่ละคนจะแสดงส่วนดี ฝึกฝนความแข็งแรงทางจิตใจได้อย่างไร และวิธีการที่ครูใช้ก็มีความละเอียดอ่อนทั้งในส่วนของกระบวนการ และมีความต่อเนื่องในการทำ จึงทำให้เด็กรู้สึกได้ถึงพื้นที่ปลอดภัยที่อบอุ่นเพียงพอในทุก ๆ วัน โดยครูได้สร้างพื้นที่ของการพูดคุยกันเรื่องเล็ก ๆ (small talk) จนทำให้พื้นที่ของการคุยเรื่องยากๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-N4jqcHromosXkd3z5FU


🧡จาก #...ไม่ใช่เซฟโซน "สู่ห้องเรียนปลอดภัย" โดยครูวรรธนะ ปัญบุตร

อะไรไม่ใช่เซฟโซนก็ทิ้งไป แล้วค่อยๆ เริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากในห้องเรียน

ชวนนักเรียนพูดคุยถึงพื้นที่ปลอดภัยของแต่ละคน เริ่มต้นจากการดูคลิปไวรัลใน TikTok ที่พูดถึงคำว่า “เซฟโซน” แล้วเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนเขียนเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าไม่ใช่เซฟโซนสำหรับตัวเอง โดยไม่ต้องระบุชื่อหรือตัวตน อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ได้ จะเป็นเหตุการณ์จริงจังหรือขำขันก็ได้ จากนั้นให้ขยำกระดาษ แล้วโยนลงตะกร้า เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเราโยนสิ่งที่ไม่ใช่เซฟโซนทิ้งไปแล้ว จากนั้นครูทิวจึงสุ่มหยิบกระดาษเหล่านั้นขึ้นมาอ่านวันละ 5 แผ่น แล้วชวนนักเรียนคุยถึงเหตุการณ์ในกระดาษว่าทำอย่างไรถึงจะมีเซฟโซนมากขึ้น


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

“การสร้างพื้นที่การเรียนรู้แบบ Transformative Learning ที่สัมผัสได้ มองเห็นได้ รู้สึกได้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการทบทวนความคิด ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อเรื่องราว หรือประสบการณ์ที่เคยเจอ ซึ่งประเด็นที่ครูนำมาเป็นต้นทุนถือเป็นประเด็นที่เด็กมีประสบการณ์ร่วมค่อนข้างมาก ทำให้เกิดพลังที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และคำถามที่ครูใช้เพื่อ "ชวนเด็กไปต่อ" เป็นคำถามที่มีพลัง ที่อยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่า "เด็กมีพลัง" ที่สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจิตวิทยาเชิงบวกที่สำคัญมาก ๆ”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-N4QGjh8DJqa-1w9tCGx


💭ชุดความคิด (Mindset) โดยครูสมส่วน-ธีรวัฒน์ พรศรีประเสริฐ

ปรับมุมมองเกี่ยวกับชุดความคิดเติบโตผ่านการย้อนมองอดีต คิดถึงอนาคต

นำแนวคิดเกี่ยวกับชุดความคิด (Mindset) คือ กรอบความคิดหรือทัศนคติทางจิตใจ ที่ส่งผลต่อวิธีคิดและวิธีในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ มาใช้สร้างแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียน และลดกำแพงในการเรียนรู้ลง ผ่านขั้นตอนการจัดกิจกรรมจากหนังสือ The Growth Mindset Coach ในคาบเรียน ชวนนักเรียนทบทวนว่า "เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไร" บ้าง และยังเชื่อมโยงประสบการณ์ความล้มเหลวของคุณครูที่เคยเกิดขึ้น วิธีในการผ่านความล้มเหลวนั้น และบทเรียนที่ได้รับและการเติบโตขึ้นของตัวเอง จากนั้นจึงให้นักเรียนลองนึกย้อนถึงความล้มเหลวและอุปสรรคที่เคยผ่านมาของตนเองบ้าง


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

“แม้ว่ากระบวนการจะเป็นกระบวนการที่นำมาจากหนังสือ แต่ต้องขอให้เครดิตครูในการเป็นผู้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้ "เลือก" กิจกรรมที่ดีนี้มาส่งต่อในห้องเรียนได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของนักเรียน ซึ่งการแสดงออกของครูผ่านการบอกนักเรียนว่า ครูนำเอาไอเดียกิจกรรมนี้มาจากหนังสือนี้นะ ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ๆ ต่อนักเรียนที่จะได้เรียนรู้ว่า คนทุกคนสามารถเติบโตและเรียนรู้ได้ ผ่านการตั้งคำถาม การแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-N42nSbMgO9RuTGC3oSL


🤗เติบโต โอบกอด และขอบคุณ กับ "การเดินทางของชีวิต" โดยครูนิธิกานต์ หนองห้าง

แบบฟอร์มทบทวนชีวิตออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้เราได้มอบรางวัลให้ตัวเอง

ชวนนักเรียนสะท้อนคิดผ่านประสบการณ์ เส้นทางชีวิตในการเรียนที่ผ่านมา ให้รางวัลตัวเอง ขอบคุณคนอื่น ๆ และรักตัวเองมากขึ้น เหมาะสำหรับนักเรียนมัธยม โดยเฉพาะม.3 และ ม.6 ที่กำลังจะจบการศึกษา โดยครูนิธิกานต์ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก แบบฟอร์มเช็คสภาพจิตใจนักเรียน และ แบบฟอร์มดูแลใจคุณครู จาก insKru ดัดแปลงเป็นคำถามผ่าน Google Form จากนั้นใช้โปรแกรมประมวลคำตอบของนักเรียนออกมาเป็นสมุดบันทึกไฟล์ PDF ที่ออกแบบอย่างสวยงามน่าอ่าน ปิดจบกิจกรรมด้วยความประทับใจได้เป็นอย่างดี


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

“การทำให้นักเรียนได้ทบทวนประสบการณ์ของตัวเองในแง่มุมที่เชื่อมโยงกับคุณค่าภายใน และความรู้สึกเชิงบวกที่มีต่อตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นต้นทุนสำคัญของการพัฒนาความหวังที่มีต่ออนาคต จำเป็นอย่างมากกับเด็กในช่วงวัย ม.3 และ ม.6 อีกทั้งกระบวนการที่ครูนำมาใช้ แม้จะเป็นประยุกต์มาจากเครื่องมืออื่น แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์เครื่องมือที่น่าสนใจ และใช้ต้นทุนไม่มาก ส่งต่อให้กับเพื่อนครูทั่วไปได้เข้าถึงและต่อยอดได้”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-My6SJyRgEkJxwqV5Vpx


💖Self - Love กับเดือนแห่งความรัก โดยครูอาภัสรา ราษฎร์ธนสกุล

ชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนมุมมองความรักที่ไม่เหมือนกัน แล้วหันกลับมารักตัวเองให้มากขึ้น

สร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้พูดคุย ปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรักในแบบของแต่ละคน (รวมคุณครูด้วยก็ได้นะ) กิจกรรมชุมนุมจากครูอาภัสรา ท่ีเลือกใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในคาบชุมนุม เริ่มจากการให้นักเรียนเลือกคำถามขึ้นมา 1 คำถามที่อยากพูดคุยกัน จากนั้นให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ทั้งมุมมองความรัก หรือประสบการณ์ของตัวเอง ชวนนักเรียนฟังเพลง Love Myself ของวง BTS แล้วปิดท้ายด้วยการเสริมมุมมองเกี่ยวกับการมอบความรักความห่วงใยให้ตัวเอง ผ่านการเขียนข้อดีของตัวเองมาอย่างน้อยคนละ 3 ข้อ บนกระดานออนไลน์ (Padlet) ให้เพื่อนๆ มากดไลก์ ให้กำลังใจกันและกันด้วย


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

“การออกแบบช่วงเวลาให้เด็กเชื่อมโยงและพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "รัก" ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของมนุษย์ได้กว้างขวางและมีมิติมากขึ้น ซึ่งความรักที่ถูกนำมาพูดคุยผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายของนักเรียน เชื่อมต่อด้วยสิ่งที่มีความเป็นนามธรรมมากขึ้นอย่างเพลง แล้วตบท้ายด้วยการเชื่อมไปสู่การประยุกต์นำไปใช้ในบริบทอื่น ค่อนข้างเป็นแนวทางการสร้างการเรียนรู้ที่ครบองค์ประกอบของการสร้างการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเรียนรู้ตามแนวทางของจิตวิทยาเชิงบวก”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-MwGB7wpQHNVlKrTql9j


💟กล่องส่องใจ โดยครูอมรรัตน์ พิมพะ (ต่อยอดจากไอเดียของครูจารุวรรณ นิ่มตลุง)

พับกระดาษให้กลายเป็นกล่องแทนใจ สะท้อนตัวตนอันหลากหลายของทุกคน

สร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่ตนเองไม่คุ้นเคยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับ ครูอมรรัตน์จึงใช้สิ่งที่จับต้องได้อย่างกระดาษที่แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส 6 ช่อง เปิดโอกาสให้แต่ละคนระบายสีที่ชอบ พับตามรอยจนกลายเป็นกล่องที่ไม่เหมือนกันสักใบ ชวนให้นักเรียนสังเกต แล้วทำความเข้าใจความสวยงามของความไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังให้แต่ละคนได้ขีดเขียน เล่าถึงเหตุการณ์ที่ภูมิใจ และเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ลงไปในด้านต่าง ๆ ของกล่อง เพื่อให้นักเรียนได้มองเห็นถึงความไม่สมบูรณ์ที่ทุกคนต่างมีด้วยกันทั้งนั้น


💬ความคิดเห็นจากกรรมการ (Life Education)

“การสร้างสะพานพาให้เด็กได้เข้าไปเชื่อมโยง ไปยอมรับตัวเอง แม้ในแง่มุมที่ไม่น่าชื่นชม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของตัวเองในระยะยาว อีกทั้งยังสำคัญต่อภาวะสุขภาพจิต เพราะการยอมรับตัวเองได้ถือเป็นเสาหลักของการก่อร่างสร้าง Self-esteem ประกอบกับการที่ครูใช้กระบวนการที่ละเอียดอ่อน มีมิติทำให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-MwFkQdt94lkdzpAviyw



🐧ชวนเด็กๆ รู้เท่าทันความโกรธไปกับนิทานแม่จ๋าอย่าโมโห โดยครูนกยูง-ปานตา ปัสสา

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับอารมณ์ที่หลากหลาย เข้าใจการรับมือกับความโกรธ

ชวนนักเรียนตามหาชิ้นส่วนของลูกเพนกวินที่กระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ บริเวณอาคารอนุบาล มาประกอบเป็นตัวเพนกวินขึ้นมาใหม่ ตามเหตุการณ์ในนิทานเรื่อง “แม่จ๋า อย่าโมโห” ก่อนจะชวนนักเรียนสรุปความคิดที่ได้จากการเรียนรู้ว่าเมื่อเราโมโหแล้วเผลอตะโกนใส่กัน อาจทำให้อีกฝ่ายแตกสลาย เสียใจได้มากแค่ไหน การรับมือกับความโกรธจึงเป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนกัน แม้จะยากก็ตาม นอกจากนี้ครูนกยูงยังแนะนำการใช้ “วงล้อความรู้สึก” ให้นักเรียนแสดงออกได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรบ้าง หลังทำกิจกรรมรู้สึกอย่างไร เลิกเรียนแล้วรู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกไม่ดีจะให้ครูกับเพื่อนช่วยอย่างไรได้บ้าง ทำให้นักเรียนเข้าใจตัวเอง เข้าใจเพื่อนได้ดีขึ้นผ่านแง่มุมของอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

”การที่ครูได้นำกระบวนการ 3 ฐาน คือ ฐานใจ ฐานคิด และฐานกาย มาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเห็น (seeing) การได้ยิน (hearing) และการรู้สึก (feeling) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแปลงเรื่องนามธรรมของจิตใจให้จดจำได้ เข้าใจได้ และประยุกต์ได้ อีกทั้งครูยังได้สร้างสรรค์กระบวนการโดยเชื่อมโยงกับเรื่องราวในนิทานทำใหัการเรียนรู้ของเด็กเกิดมิติสัมพันธ์มากขึ้น เชื่อมโยงได้มากขึ้น”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-Mvw3_iDTr866PAbiMD4


💞พื้นที่ปลอดภัยที่ดีต่อใจในการเรียนรู้ โดยครูเกศรินทร์ พงษ์เพ็ชร

ชวนนักเรียนถกถามเรื่อง Talk of The Town สร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วยการมองผ่านแว่นตาของคนอื่น

เมื่อคุณครูตั้งใจว่าจะทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยทางการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคน ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นวิธีการต่าง ๆ ที่คุณครูปฏิบัติต่อนักเรียน เพื่อทำให้นักเรียนทุกคนรู้สึกมีคุณค่าและมีตัวตนในชั้นเรียน ชื่นชมในทุกความพยายาม เห็นคุณค่าแม้จะเป็น 1 เต็ม 10 ก็ตาม รวมถึงฝึกฝนให้นักเรียนมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินผู้อื่น ปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยกิจกรรม “If I were … หากเราเป็นเขา... (มองเขาผ่านมุมมองเขา)” โดยใช้ข่าวหรือเรื่องที่ได้รับความสนใจในปัจจุบันเป็นตัวตั้ง แล้วใช้ชุดคำถาม ให้นักเรียนแสดงออกว่ารู้สึกอย่างไรกับข่าวนี้ คิดว่าคนในข่าวรู้สึกอย่างไร ถ้านักเรียนเป็นบุคคลในข่าวจะทำเหมือนกันหรือไม่ และนักเรียนคิดว่าอะไรจูงใจให้เขาทำเช่นนั้น เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น และร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนได้ต่อไป


💬ความคิดเห็นของกรรมการจาก Life Education

“การออกแบบกระบวนการที่มุ่งตรงไปสู่การสร้างช่วงเวลาเล็ก ๆ (Micro Moments) สำคัญมากต่อการสร้างและต่อยอดการเปลี่ยนแปลงระยะยาว หลายครั้งเมื่อเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก ด้านจิตใจ ด้านพฤติกรรมของนักเรียน เรามักจะมุ่งตรงไปสร้างช่วงเวลาใหญ่ ๆ สร้างภาพจำ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงของคนโดยเฉพาะในเรื่องของ Mindset จะสามารถเกิดขึ้นและคงอยู่ได้ต่อเมื่อช่วงเวลาเล็ก ๆ ได้ถูกตอบสนองหรือสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการที่ละเอียดอ่อน เช่น เมื่อเราพูดมีคนฟัง เมื่อเราหิวมีคนช่วยดูแล เมื่อเราอึดอัดมีคนอยู่ใกล้ๆ เป็นต้น ซึ่งไอเดียของครูที่นำเสนอนี้ได้ฉายภาพของการสร้างช่วงเวลาเล็ก ๆ ได้หลากหลาย และมีรายละเอียดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ที่สำคัญ "หลักคิด" ของไอเดียคุณครู เป็นหลักคิดที่ตั้งอยู่พื้นฐานของ Growth Mindset ที่เชื่อว่าคนทุกคนเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ถือเป็นหลักคิดที่สำคัญต่อความเป็นครู และการจัดการศึกษาตามแนวทางของจิตวิทยาเชิงบวกอย่างมาก”


ตามไปอ่านไอเดียอย่างละเอียดต่อได้ที่นี่เลย https://inskru.com/idea/-Mq9qWwUvOc0x2du32eq

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(3)